วันศุกร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

บัตรทองดีกว่าประกันสังคม

เผยผลการศึกษาพบบัตรทองดีกว่าประกันสังคม สธ.1 ก.พ.- นักวิชาการเผยผลศึกษาสิทธิประโยชน์ พบบัตรทองดีกว่าประกันสังคมเกือบทุกด้าน ระบุกว่า 10 โรค ที่บัตรทองคุ้มครองมากกว่า ขณะที่ 15 รายการ ประกันสังคมไม่มีการบริหารจัดการเฉพาะ ทำผู้ประกันตนเข้าไม่ถึงการรักษา เพราะเหมาจ่ายรายหัว เป็นที่มา "พารารักษาทุกโรค"  จี้ผู้เกี่ยวข้องแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ

นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข กล่าวว่า จากการศึกษาเปรียบเทียบสิทธิประโยชน์ระหว่างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง และระบบประกันสังคม ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สนับสนุนงบประมาณในการทำวิจัย ตั้งแต่ วันที่ 15 พ.ย. 2553 พบว่า ณ วันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา สิทธิประโยชน์ของทั้ง 2 ระบบ มีความแตกต่างใน 3 กลุ่ม คือ ขอบเขตและเงื่อนไขการคุ้มครอง, สิทธิประโยชน์ที่แตกต่างกัน และ สิทธิประโยชน์ที่เหมือนกันแต่บริหารจัดการแตกต่างกัน  โดยขอบเขตและเงื่อนไขการคุ้มครองนั้น บัตรทองไม่ต้องมีการจ่ายสมทบ และได้รับการคุ้มครองทันที ขณะที่ประกันสังคมต้องจ่ายสมทบในระยะเวลาที่กำหนดจึงจะได้รับการคุ้มครอง และหากขาดการจ่ายเงินสมทบเกิน 3 เดือน สิทธินั้นเป็นอันสิ้นสุด

นพ.พงศธร กล่าวอีกว่า ส่วนสิทธิประโยชน์ที่ทั้งสองระบบมีความแตกต่างกันมีทั้งสิ้น 12 สิทธิประโยชน์ โดยบัตรทองมีสิทธิประโยชน์ครอบคลุมมากกว่า 10 สิทธิประโยชน์  เช่น  ผู้ประกันตนเป็นกลุ่มเดียวที่ห้ามป่วยฉุกเฉินเกินกว่า 2 ครั้งต่อปี ห้ามป่วยด้วยโรคเดียวกันที่ต้องรักษาใน รพ.หรือผู้ป่วยใน ติดต่อกันเกินกว่า 180 วันต่อ 1 ปี ไม่คุ้มครองโรค หรือประสบอันตรายอันเนื่องจากการใช้สารเสพติด ไม่คุ้มครองการทำร้ายตัวเอง หรือพยายามฆ่าตัวตาย ไม่คุ้มครองไตวายเฉียบพลันที่มีระยะเวลาการรักษาเกิน 60 วัน ไม่คุ้มครองการปลูกถ่ายไต หากผู้ประกันตนป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังก่อนเข้าเป็นผู้ประกันตน ไม่มีบริการรักษาตัวแบบพักฟื้นและบริการหลังผู้ป่วยกลับบ้าน ไม่มีการฟื้นฟูสมรรถภาพทางด้านการแพทย์หลังสิ้นสุดการรักษา ไม่มีระบบการช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้รับบริการและผู้ให้บริการที่ได้รับ ความเสียหายจากการรับบริการและให้บริการ ไม่มีการให้ยาต้านไวรัสโรคเอดส์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อหลังสัมผัส เช่น ถูกข่มขืน ติดเชื้อระหว่างการปฏิบัติงาน มีเพียงการทำรากฟันเทียม ที่ระบบประกันสังคมมีสิทธิประโยชน์มากกว่า และเพิ่งจะบรรจุในสิทธิประโยชน์ วันที่ 1 มกราคม 2554

นพ.พงศธร กล่าวว่า สำหรับสิทธิประโยชน์ที่เหมือนกันแต่บริหารจัดการแตกต่างกัน จำนวน 25 รายการ ในจำนวนนี้มี 10 รายการ ที่ทั้งสองระบบมีระบบบริหารจัดการเฉพาะ แต่แตกต่างกันในรายละเอียด และสิทธิประโยชน์ 15 รายการ  ที่ระบบประกันสังคมไม่มีการบริหารจัดการเฉพาะ แต่บัตรทองมี เช่น  การผ่าตัดต้อกระจก โรคที่เกี่ยวกับการอุดตันของหลอดเลือดในสมอง โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันชนิดที่มีการยกขึ้นของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ส่วน ST การรักษาผู้ป่วยโรคหืด โรควัณโรค โรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง  ซึ่งทั้งหมดรวมอยู่ในงบเหมาจ่ายรายหัว  ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมผู้ประกันตนจึงเรียกประกันสังคมว่าพารารักษาทุก โรค เพราะรพ.พยายามประหยัดค่าใช้จ่ายให้มากที่สุด เนื่องจากถูกรวมอยู่ในงบเหมาจ่ายรายหัวอยู่แล้ว ต่างจากบัตรทองใช้วิธีจ่ายเงินให้หน่วยบริการตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (DRG) เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการมากที่สุด

นพ.พงศธร กล่าวอีกว่า นอกจากนั้น ยังรวมถึงยาที่มีปัญหาในการเข้าถึงอีก 15 รายการ ที่บัตรทองมีการบริหารจัดการยาราคาสูง โดยจัดระบบอนุมัติการใช้ยาและจ่ายยาแยกจากเงินเหมาจ่ายรายหัว เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการด้านยาของผู้ป่วย ขณะที่ประกันสังคมเหมารวมค่ายาอยู่ในค่าเหมาจ่ายรายหัว ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถเข้าถึงยาราคาแพงได้ มี 1 รายการ ที่ระบบประกันสังคมมีระบบบริหารจัดการเฉพาะ แต่ระบบหลักประกันสุขภาพไม่มี แต่ใช้วิธีจ่ายเงินให้หน่วยบริการตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (DRG) คือ ผ่าตัดสมอง

"โดยรวมแล้วระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีสิทธิประโยชน์ที่ดีกว่า ทั้งขอบเขตและเงื่อนไขการคุ้มครองที่สะดวกต่อผู้รับบริการมากกว่า มีสิทธิประโยชน์ที่มากกว่า และมีการบริหารจัดการเฉพาะเพื่อให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงการบริการที่มีคุณภาพ ได้ดีกว่า ประเทศไทยมีระบบประกันสังคมกว่า 20 ปี ขณะที่มีบัตรทอง 8 ปี ทั้ง 2 สองระบบ มีสิทธิประโยชน์ที่แตกต่างกัน โดยที่ฝ่ายนโยบายของสำนักงานประกันสังคมก็ตระหนักดีถึงความแตกต่างกันนี้  เป้าหมายของการศึกษาในครั้งนี้  ไม่ได้ใช้การเปรียบเทียบว่าระบบใดเด่นกว่า หรือด้อยกว่า แต่ต้องการสื่อสารให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ตระหนักถึงความไม่เป็นธรรมและ ความเหลื่อมล้ำที่ผู้ประกันตนถูกทำให้ตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้  ทั้งที่เป็นคนกลุ่มเดียวในประเทศไทยที่ต้องจ่ายสมทบค่ารักษาพยาบาล และคาดหวังว่าจะนำไปสู่การพัฒนาหารูปแบบที่เหมาะสมของสวัสดิการรักษาพยาบาล ในระบบประกันสังคมในอนาคต" นพ.พงศธร กล่าว.- สำนักข่าวไทย
 



ที่มา : สำนักข่าวไทย MCOT

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น